ความสำเร็จของการสร้างชาติที่มั่นคงและมั่งคั่งของสิงคโปร์ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลายเสมอไป บางครั้งต้องแลกมาด้วยเรื่องที่มองกันว่าเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน
การรณรงค์ให้คนสิงคโปร์มีบุตรเพียง 2 คนต่อครอบครัวในท้ายที่สุด ทำให้สิงคโปร์มีปัญหาด้านความสมดุลของจำนวนประชากร โดยมีอัตราเกิดที่ไม่สามารถทดแทนอัตราการตายได้โดยเฉลี่ยที่ 1.3 แทนที่จะเป็น 2.1 ซึ่งรัฐบาลสิงคโปร์แก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการหันมาพึ่งพาการย้ายถิ่นฐานของคนต่างด้าวเข้ามาในสิงคโปร์แทน
ความเป็นชาติที่เป็นปึกแผ่นของสิงคโปร์ต้องแลกด้วยความเด็ดขาดในการปกครอง สิงคโปร์มีชื่อด้านการลงโทษผู้ทำผิดร้ายแรงถึงขั้นประหารชีวิต โดยเฉพาะในคดียาเสพติด ประมาณว่าตั้งแต่ปี 2534 มีนักโทษถูกประหารชีวิตด้วยการแขวนคอแล้วราว 400 ราย ซึ่งทำให้สิงคโปร์ได้รับสมญานามว่า ‘ดิสนีย์แลนด์แดนประหาร’
นอกจากนี้ ความเป็นหนึ่งเดียวกันของสิงคโปร์ยังหมายถึงการจำกัดการมีเสรีภาพของสื่อมวลชน องค์กรนักข่าวไร้พรมแดนจัดลำดับให้สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีเสรีภาพด้านสื่อมวลชนต่ำเป็นลำดับท้าย ๆ จาก 180 ประเทศ
อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีการสื่อสารทางอินเตอร์เน็ตได้กลายเป็นทางออกของประชาชนสิงคโปร์ในการแสดงความคิดเห็นและรับรู้ข่าวสารนอกเหนือไปจากช่องทางของสื่อปกติที่มีรัฐบาลควบคุมอย่างเข้มงวด
การเซ็นเซอร์งานศิลปะเช่นละครก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการควบคุมสื่อที่รัฐบาลสิงคโปร์มีชื่อในทางที่ไม่สู้จะดีนัก โดยในอดีตเมื่อ 35 ปีที่แล้ว นักเขียนบทละครต้องส่งบทให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจ แต่ปัจจุบันรัฐบาลควบคุมโดยใช้วิธีจัดประเภทและกำหนดอายุของผู้ชม
ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนก็เป็นอีกปัญหาใหญ่ของสิงคโปร์ โดยเป็นประเทศที่มีช่องว่างดังกล่าวมากที่สุดในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว
อีกข้อคือปัญหาด้านอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ซึ่งเกิดจากการมีนโยบายพึ่งพาแรงงานย้ายถิ่น ที่เข้ามาพำนักในสิงคโปร์มาก ปัจจุบันมีคนต่างด้าวคิดเป็นร้อยละ 40 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งชาวสิงคโปร์กังวลว่าจะเป็นการสลายอัตลักษณ์ของความเป็นชาติสิงคโปร์ ทั้งนี้รัฐบาลได้แก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยออกนโยบายคัดกรองการเข้าเมืองและย้ายถิ่นฐานให้มีความเข้มงวดขึ้น
ในขณะที่มีประชากรจากภายนอกอพยพเข้ามามาก ประชาชนสิงคโปร์เองจำนวนไม่น้อยรู้สึกอยากย้ายถิ่นฐานออกไปมีชีวิตในต่างประเทศ จากการสำรวจคนราว 2,000 คน ร้อยละ 56 ของคนจำนวนดังกล่าวบอกว่า อยากออกไปอยู่นอกประเทศ